อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เริ่มต้นจากความต้องการติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) กับอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาลัยวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ของ ศ. ดร.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ด้วยความพยายามติดตั้งเครื่องแม่ข่ายและอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก ด้วยความเร็วเพียง 2400 bps (bits per second)
จากนั้นในปี พ.ศ. 2531 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ภายใต้โครงการ TCSNet หรือ Thai Computer Science Network เพื่อรับ-ส่งอีเมลเป็นรายครั้งผ่านการหมุนโทรศัพท์ไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ประเทศออสเตรเลีย
ในปีเดียวกันนี้ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต มีแนวความคิดให้นักวิจัยไทยได้มีอีเมลที่ลงท้ายด้วย .th เป็นของตนเองแทนที่การใช้ .au จึงติดต่อไปยังคุณโจนาธาน บรูซ โพสเทล (Jonathan Bruce Postel หรือ Jon Postel) ผู้ให้กำเนิดมาตรฐานการสื่อสารคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต รับผิดชอบการดูแลทรัพยากรอินเทอร์เน็ตโลก รวมไปถึงชื่อโดเมน คุณโจนาธานจึงได้มอบชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th ให้ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ได้เป็นผู้ดูแลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากได้รับชื่อโดเมนแทนประเทศไทย .th มาดูแลเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเวลานั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น อัตราการเติบโตของผู้ใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เป็นตัวเลือกกับผู้ใช้เพิ่มขึ้น จึงได้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการชื่อโดเมน .th ซึ่งเป็นผลให้เกิดโครงสร้างชื่อโดเมนระดับที่สอง ขึ้น เช่น .co.th .ac.th .or.th .go.th และกลุ่มผู้ดูแลชื่อโดเมน .th ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์สารสนเทศเครือข่ายประเทศไทย หรือ THNIC มีหน้าที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนต่าง ๆ ที่ลงท้ายด้วย .th โดยในปัจจุบันคือ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย รับบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการนโยบายการใช้งาน .th และ .ไทย มีบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เป็นผู้ให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Registrar) .th ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 และ .ไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 มีบริษัท ไทย เนม เซิฟเวอร์ จำกัด เป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลและระบบโดเมนเนมเซิฟเวอร์ (Registry) ภายใต้ความมุ่งหวังให้ชื่อโดเมน .th และ .ไทย มีความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือครองชื่อโดเมนและผู้ใช้บริการได้
ชื่อโดเมน.ไทย ถือเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบรหัสประเทศ (Country Code Top-Level Domain) ที่เป็นภาษาท้องถิ่น (Internationalized Domain Name: IDN) ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลที่เป็นภาษาท้องถิ่น (ภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก) เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานของประชากรโลกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติอย่างเช่น ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาเวียดนาม ภาษาจีนกลาง ภาษาฮินดี ฯลฯ ตัวอย่างของโดเมนภาษาท้องถิ่นสำหรับภาษาไทย เช่น รู้จัก.ไทย เว็บครู.ไทย คน.ไทย
พระลาน.ไทย เป็นต้น
ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลอันเกิดจากภาษา ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางขึ้น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการไม่สามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ และเจ้าของเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามสะกดชื่อเว็บไซต์ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ หากชื่อของแบรนด์เป็นภาษาไทยอยู่แล้วและเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย
การมีชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น ทำให้เกิดอีเมลภาษาท้องถิ่น (Email Address Internationalization)ตามมา เช่น ติดต่อ@คน.ไทย เป็นต้น ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสามารถจดจำชื่ออีเมลและสื่อสารผ่านอีเมลถึงกันได้ เนื่องจากชื่อโดเมนและอีเมล มักถูกใช้เป็นสิ่งระบุตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การสมัครขอใช้บริการต่าง ๆ จะขออีเมลเพื่อใช้เป็นรหัสผู้ใช้ รวมถึงใช้ในการส่งข้อความยืนยันตัวตนทางองค์กรอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) จึงได้เร่งผลักดันให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถกรอกชื่อโดเมนและอีเมลภาษาท้องถิ่นในแบบฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ เว็บไซต์ได้เริ่มเปิดให้กรอกภาษาท้องถิ่นลงในแบบฟอร์ม หรืออนุญาตให้ใช้อีเมลภาษาท้องถิ่นเป็นรหัสผู้ใช้ได้แล้ว เงื่อนไขการจดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น .ไทย คือ ชื่อนั้นจะต้องแปล (ความหมายเดียวกัน) หรือออกเสียงได้เหมือนกันทั้ง 2 ภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย)
#CMArea3ContentCenter